กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทำหนังสือชี้แจง ยืนยันไม่มีการลักลอบผลิตปิโตรเลียมของบริษัทผู้รับสัมปทานในพื้นที่ ส.ป.ก. จังหวัดเพชรบูรณ์แต่อย่างใด
จากประเด็นพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ลงพื้นที่เพื่อสืบสวนสอบสวนคดีที่ พ.ท.รัฐเขต แจ้งจำรัส กรรมาธิการพลังงานวุฒิสภาร้องทุกข์กล่าวโทษว่า บริษัทอีโค่ โอเรียน รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ลักลอบขุดเจาะน้ำมันดิบในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร โดยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557 พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร กรมที่ดิน กรมป่าไม้ รวมถึงผู้แทนจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557 ได้มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้ผ่านรายการประเด็นเด็ด 7 สี โดยการสัมภาษณ์ พ.ท.รัฐเขต แจ้งจำรัส ซี่งได้ให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวว่า การลงพื้นที่เป็นการดำเนินการเพื่อบุกจับการขุดน้ำมันดิบขาย ซึ่งได้แอบดำเนินการมาแล้ว 5 ปี และมีการหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าภาคหลวง ส่งผลให้ประเทศสูญเสียรายได้ซี่งเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศมากมาย ซึ่งข้อมูลนี้คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงเป็นอย่างมาก กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมขอชื้แจงเรื่องดังกล่าว ดังนี้
บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด (สัญชาติฮ่องกง) เป็นผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม 2514 ที่มีสิทธิในการดำเนินงานในการประกอบกิจการด้านปิโตรเลียมในพื้นที่ผลิตสัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 3/2546/60 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L44/43 และสัมปทานเลขที่ 5/2546/62 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L33/43 โดยแหล่งดังกล่าวเคยมีอัตราการผลิตสูงสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 คือ 12,500 บาร์เรลต่อวัน ต่อมาอัตราการผลิตลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากการผลิตน้ำมันดิบของหลุมในแหล่งส่วนใหญ่ได้มาจากชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียมที่เป็นหินภูเขาไฟ ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถกักเก็บน้ำมันดิบได้น้อย รวมถึงการประสบปัญหาในการผลิตน้ำในอัตราสูงจนเป็นเหตุให้ต้องปิดหลุมผลิตบางส่วน
สำหรับกรณีข้อมูลการใช้ประโยชน์ในที่ดินของ ส.ป.ก. มีรายละเอียดคือ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2552 บริษัทได้รับอนุมัติพื้นที่ผลิตบ่อรังเหนือ จำนวน 39.39 ตารางกิโลเมตร ซึ่งบางส่วนมีเนื้อที่ประมาณ 43 ไร่ 3 งาน 35 ตารางวา อยู่ในเขตที่ดินของ ส.ป.ก. ท้องที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีฐานผลิตจำนวน 6 ฐาน ได้แก่
1. พื้นที่ฐาน Borang (บ่อรัง) จำนวน 4 หลุม
2. พื้นที่ฐาน L44-W จำนวน 4 หลุม
3. พื้นที่ฐาน L44 W-A15 จำนวน 2 หลุม
4. พื้นที่ฐาน L44W-A14 จำนวน 1 หลุม
5. พื้นที่ฐาน 2009-A จำนวน 1 หลุม
6. พื้นที่ฐาน L44-V จำนวน 4 หลุม
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตกรรม (ส.ป.ก.) ว่าพื้นที่ผลิตทั้ง 6 ฐานดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่ของ ส.ป.ก. จึงได้หยุดทำการผลิตโดยทันที และภายหลังจากนั้นได้มีการตรวจสอบจาก ส.ป.ก.และมีหนังสือที่ พช 0011/1017 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2555 แจ้งว่า พื้นที่ L44-V ไม่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน บริษัทฯ จึงเริ่มทำการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ L44-V เพียงแหล่งเดียวอีกครั้ง คือตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2555 ปัจจุบันมีอัตราการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยประมาณ 142 บาร์เรลต่อวัน (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2557) ซึ่งในการตรวจสอบเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งดังกล่าวด้วย แต่ในการนำเสนอข้อมูลมิได้นำข้อเท็จจริงจากการลงตรวจสอบพื้นที่มานำเสนอแต่อย่างใด
ดังนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติขอเรียนว่า ประเด็นที่มีการเผยแพร่ว่ามีการลักลอบผลิตปิโตรเลียมจากฐานผลิตจำนวน 6 ฐานมาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี โดยไม่เสียค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ไม่ได้เป็นความจริงแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ได้ดำเนินการผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจบนบกหมายเลข L44/43,L33/43 พื้นที่ผลิตนาสนุ่นตะวันออก, บ่อรังเหนือ, วิเชียรบุรีส่วนขยาย, L33 โดยมีจำนวนฐานผลิตทั้งหมด 45 ฐาน จำนวนหลุมผลิต 24 หลุม จากจำนวนหลุมทั้งหมด 110 หลุม มีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย 4,790 บาร์เรลต่อวัน ปริมาณก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย 1.113 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และปริมาณน้ำที่เกิดจากการผลิตเฉลี่ย 3,583 บาร์เรลต่อวัน (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2557)‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook