LINE : ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์

ยินดีต้อนรับสู่เพจข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วันพฤหัสที่ 19 ธันวาคม 2024
คอลัมน์วันนี้

ประวัติบ้านคลองศาลา .. ประตูสู่เมืองเพชรบูรณ์

ประวัติบ้านคลองศาลา.. ประตูสู่เมืองเพชรบูรณ์

     ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์  wison_k@hotmail.com

บ้านคลองศาลา  เป็นบริเวณชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมตั้งอยู่ด้านทิศใต้เมืองเพชรบูรณ์โดยมีพื้นที่ตั้งแต่วัดภูเขาดิน ไปตามถนนพระพุทธบาทในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์เรื่อยไปจนถึงเขตบางส่วนของหมู่13 และหมู่ 2 ของตำบลสะเดียง  … บ้านคลองศาลา  เปรียบเสมือนเป็นประตูเข้าเมืองเพชรบูรณ์  เนื่องจากเส้นทางดั้งเดิมที่มาจากวิเชียรบุรีหรือตะพานหิน  ต้องเดินทางผ่านมาทางบ้านนายม คลองขุด ชอนไพร แล้วจึงผ่านบ้านคลองศาลา  เข้าสู่ตัวเมืองเพชรบูรณ์

สมัยก่อนการสัญจรไปมาในเพชรบูรณ์ นิยมใช้การสัญจรทางน้ำทางเรือเป็นหลักเพราะสะดวกและรวดเร็วกว่าทางถนน ชาวบ้านทางตอนใต้ของตัวเมืองเพชรบูรณ์เวลาจะเดินทางเข้าเมืองหรือนักเรียนจะเดินทางเข้าไปเรียนหนังสือที่วัดภูเขาดินและวัดมหาธาตุก็จะพายเรือมาตามลำคลองศาลา และเมื่อถึงฝั่งก่อนเข้าเมืองก็จะขึ้นที่ศาลาท่าน้ำที่อยู่หลังวัดภูเขาดิน  เป็นศาลาให้คนเดินทางจอดเรือพักเตรียมความเรียบร้อยก่อนเข้าเมืองและเป็นจุดนัดพบกันอีกครั้งเพื่อจะลงเรือกลับบ้านตามลำคลองดังกล่าว  ผู้คนจึงเรียกคลองนี้ว่า คลองศาลา  เมื่อมีการตั้งชุมชนขึ้นจึงได้เรียกชุมชนดังกล่าวว่า บ้านคลองศาลาด้วย แต่ความเป็นจริงแล้ว บ้านคลองศาลาแต่เดิมนั้นจะเรียกกันเฉพาะบริเวณวัดภูเขาดิน  ส่วนบริเวณที่เลยออกไปทางใต้ แต่เดิมเรียกว่าบ้านกลางนาหรือบ้านทุ่งนา  แต่ปัจจุบันนี้ได้เรียกรวมกันหมดเป็นชุมชนเดียวว่าบ้านคลองศาลา

สภาพดั้งเดิมของชุมชน  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนาตั้งแต่วัดภูเขาดินเรื่อยไปและส่วนที่เป็นโคกจะปกคลุมไปด้วยป่าระกำ สะแก ไผ่และป่าพง มีคลองน้ำไหลผ่าน  3 สาย  คือ คลองศาลาที่น้ำไหลมาจากคลองคูและคลองป่าแดง  คลองหัวโรงวัว ที่น้ำไหลมาจากบ้านพลำ และคลองโซมซึ่งเป็นคลองลำเลียงน้ำทำนา  สภาพเดิมของคลองจะกว้างและลึก  มีน้ำไหลตลอดปี และมีปลาชุกชุม  บ้านเรือนแต่เดิมมีอยู่เพียงไม่กี่หลังตั้งอยู่ห่าง ๆ กันและเพิ่มมากขึ้นในเวลาต่อมา บ้านส่วนใหญ่ไม่มีรั้วกั้น และสามารถเดินทะลุกันได้หรือลอดใต้ถุนบ้านเพื่อเดินออกมายังถนน  การคมนาคมแต่ดั้งเดิมนั้น ใช้เรือและเกวียน  ถนนสายหลักคือถนนพระพุทธบาทตัดผ่ากลางชุมชน  โดยถนนสายนี้เดิมจะมีต้นฉำฉาปกคลุมอยู่สองข้างทางไปจนถึงหนองนายั้ง  ต่อมา ก็ได้มีการสร้างถนนใหม่ขนานกันไปทางด้านทิศตะวันตก  ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่าถนนสายนอก นั่นคือ ถนนสามัคคีชัยหรือทางหลวงหมายเลข21 นั่นเอง

ในสมัยนครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2486-2487  ที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ทำการย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เพชรบูรณ์  ได้มีการใช้พื้นที่บริเวณคลองหัวโรงวัวเป็นป่าช้าเพื่อฝังศพ“คนเกณฑ์” ที่ถูกเกณฑ์มาใช้แรงงานสร้างเมืองหลวงและได้ล้มตายลงเนื่องจากไข้ป่าเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังได้มีการตั้งกรมแผนที่ทหารขึ้นบริเวณที่เรียกว่านายั้ง และได้เคยมีการพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้ในเพชรบูรณ์จากสถานที่แห่งนี้ด้วย  ซึ่งปัจจุบันคือ บริเวณโรงเรียนเซนโยเซฟศรีเพชรบูรณ์

คนคลองศาลา มีสำเนียงภาษาพูดที่มีรากมาจากภาษาสะเดียง  ผู้คนสมัยก่อนประกอบอาชีพทำนา  ทำไร่ข้าวโพด ไร่แตงโม  ปลูกอ้อย ผลิตน้ำอ้อย  และเลี้ยงวัวควายโดยเลี้ยงแบบปล่อยธรรมชาติ เมื่อถึงฤดูทำนาจึงไปจับมาทำนานอกจากนั้น ยังทำอาชีพหาปลา เก็บของป่า  เผาถ่านขาย  และมีการนำสินค้าไปแลกผลิตผลการเกษตรที่บ้านชอนไพรมากินมาขายในตัวเมืองด้วย  ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่บ้านคลองศาลาได้เล่าให้ฟังว่าในสมัยนครบาลเพชรบูรณ์ จะขายของดีมากโดยเฉพาะอาหารและผลิตผลทางการเกษตร จึงกล่าวได้ว่าวิถีชีวิตในอดีตของคนในชุมชนมีการพึ่งพาอาศัยกัน อยู่กันแบบพี่น้องพออยู่พอกิน แลกเปลี่ยนข้าวของเครื่องใช้กัน

การทำบุญและพิธีทางศาสนาต่าง ๆ คนคลองศาลาจะไปทำบุญกันที่วัดภูเขาดินและวัดช้างเผือก มีประเพณีทำบุญกลางบ้านเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ นอกจากนั้นชาวชุมชนยังมีความเชื่อในเรื่องหมอทรง หมอสมุนไพร  เช่นที่บริเวณต้นมะขามใหญ่ริมคลองศาลาหลังเรือนจำในปัจจุบันจะมีศาลตาปู่ตั้งอยู่เป็นที่เคารพสักการะของคนในชุมชนอีกด้วย  ในช่วงสงกรานต์  คนคลองศาลาจะจัดพิธี  “อาบน้ำคนแก่  แห่ไปกิน”  ก่อพระเจดีย์ทราย และการละเล่น “แม่ศรี”“นางด้ง” “ ลิงลม” “ดึงหนัง”

สถานที่สำคัญของชุมชนนี้ในสมัยก่อนคือ  ท่าโบราณ ซึ่งเป็นท่าน้ำอยู่ริมคลองศาลา อยู่ด้านหลังเรือนจำจังหวัด  เป็นสถานที่รวมคนในหมู่บ้าน  เป็นที่อาบน้ำ เล่นน้ำของเด็ก ๆ  เป็นที่ลงตักน้ำมาใช้ในครัวเรือน  และใช้เป็นที่ประกอบกิจกรรมทางสังคมได้แก่  ลานก่อพระเจดีย์ทราย  นอกจากนั้นยังเป็นที่ซึ่งสัตว์เลี้ยงต่าง ๆเช่น ช้าง  วัว  ควาย ลงกินน้ำอีกและปลูกผักสวนครัวตามริมคลองอีกด้วย  ปัจจุบัน ก็ยังคงมีความสำคัญเป็นพื้นที่สาธารณะร่วมกันโดยสร้างเป็นที่ทำการชุมชน 14 (คลองศาลา)

บุคคลสำคัญในอดีตซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือ  ครูแถม พรหมบุญ ซึ่งได้สร้างศาลาไว้ให้ประชาชนได้พักริมทางบริเวณถนนพระพุทธบาท เรียกกันว่าศาลาครูแถม  และยังมีผู้ที่ชาวบ้านให้ความนับถืออีกคือ  ผู้ใหญ่อินทร์ อ่อนอินนอน  กำนันหวอย และกำนันฉลอง  ซึ่งเป็นผู้นำคนสำคัญของชุมชนในอดีต

บทความนี้ เรียบเรียงขึ้นจากคำสัมภาษณ์บรรดาผู้นำชุมชนบ้านคลองศาลาโดยมีวัตถุประสงค์ในการเก็บบันทึกประวัติส่วนหนึ่งของบ้านคลองศาลาเอาไว้เพื่อสืบทอดต่อไปยังลูกหลานได้เรียนรู้ชุมชนบ้านตนเอง.. มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา .

10489886_10151868310992168_4292301708186653237_n

‘>

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

คอลัมน์วันนี้ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด