ผวจ.เพชรบูรณ์ จี้ อำเภอและวัฒนธรรมจังหวัด เร่งหาเบาะแสจารึกหินทราย อายุ 1,200 ปี ล่องหน วอน ผู้นำไปส่งคืน
ความคืบหน้ากรณีจารึกหินทรายอายุราว 1,200 ปี ที่เพิ่งถูกค้นพบเพิ่มเติมที่บ้านดงคล้อ ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ อีก 3 หลัก แต่เกิดการสูญหายไป 1 หลัก อย่างไร้ร่องรอย ล่าสุด นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานแต่กำลังเร่งประสานให้ ทางอำเภอ และวัฒนธรรมจังหวัด เร่งหาเบาะแสให้ละเอียด เพื่อจะได้ติดตามทวงคืนจารึกหินทราย ที่สูญหายไปกลับคืนมาให้ได้ แต่ทั้งนี้ อยากวิงวอนไปยังผู้ที่หยิบฉวยไปทั้งที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรืออาจประสงค์ดี แต่ตั้งใจนำไปเก็บรักษาไว้ ก็ขอให้ช่วยส่งคืน เพราะจารึกนี้ ไม่เพียงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นสมบัติชาติและเป็นของส่วนรวมที่ควรถูกตั้งแสดงไว้ในจุดที่เหมาะสม เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมกันศึกษาค้นคว้าต่อไป
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า ทราบว่าขณะนี้จารึกที่เหลืออีก 2 หลัก ยังอยู่ในบริเวณที่มีการค้นพบซึ่งยังเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมไปอีก ก็จะเร่งให้ทางอำเภอหรือวัฒนธรรมอำเภอ ขนย้ายมาเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัยก่อน โดยเกรงว่าจะเกิดเหตุถูกโจรกรรมซ้ำซ้อนไปอีก
จากข่าว
นายซินเฮง โพธิ์ศรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านดงคล้อ ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ นำนางฐิติญา จั่นเอี่ยม นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ และน.ส.ชลธิชา เพ่งพินิจ นักวิชาวัฒนธรรมชำนาญการ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด พร้อมพันตำรวจตรีเชวงเดช ราชอาจ สารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอน้ำหนาว เดินทางไปยังบริเวณจุดที่เก็บจารึกหินทรายอายุ 1,๑00 ปี ที่ยังเหลืออีก 2 หลัก บริเวณใกล้บ้านพักนายสิทธิชัย ร่มเย็น อายุ 45 ปี เพื่อตรวจสอบและทำการขนย้ายจารึกหินทรายดังกล่าว มาเก็บรักษาในสถานที่ปลอดภัยเป็นการชั่วคราว นางฐิติญา แจ้งว่า หลักจารึกหินทรายดังกล่าว หายไป ๑ หลักเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีพระสงฆ์จากวัดหนองแปลง ต.ศรีฐาน จ.เลย ราว 5 รูป มาวนเวียนหลายครั้ง ซึ่งเวลานั้นนายสิทธิชัยไปงานแต่งงานพอดี ต่อมามีผู้มาชมดูกระทั่งทราบภายหลังว่าศิลาจารึกหลักที่ตั้งอยู่ตรงกลางสูญหายไป แต่ไม่ได้แจ้งให้ใครทราบ ต่อมาผู้ใหญ่บ้านได้นำคณะเจ้าหน้าที่กรมศิลป์ไปลอกอักษร เพื่อนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญอ่านและแปลจึงทราบว่าหลักจารึกหลักนี้ได้สูญหายไปแล้ว จึงได้เตรียมหลักฐานเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต้อพนักงานสอบสวน สภ.น้ำหนาว เพื่อจะได้นำผู้ต้องสงสัยมาสอบสอนและหาเบาะแสติดตามจารึกหินทรายที่สูญหายไป
ใบเสมาหินทรายศิลปะสมัยทวารวดี ที่บ้านดงคล้อ หมู่ที่ 6 ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2555 เจ้าหน้าที่จากกองหอสมุดแห่งชาติฯ ได้ศึกษาวิเคราะห์ และได้ให้ฐานข้อมูลเสมาหินทั้งสองหลัก ดังนี้จารึกบ้านดงคล้อ 1 วัตถุจารึกหินทรายสีแดง ลักษณะวัตถุใบเสมา ขนาดกว้างสุด 53 เซนติเมตร สูง 46 เซนติเมตร หนา 15 เซนติเมตร ได้ขึ้นบัญชี/ทะเบียนวัตถุ กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “พช.17” จารึก อักษรหลังปัลลวะ(มอญโบราณ)ภาษาสันสกฤต จำนวน 1 ด้าน มี 8 บรรทัด จารึกบ้านดงคล้อ 2 วัตถุจารึกหินทรายสีแดง ลักษณะวัตถุใบเสมา ขนาดกว้างสุด 56 เซนติเมตร สูง 117 เซนติเมตร หนา 10 เซนติเมตร ได้ขึ้นบัญชี/ทะเบียนวัตถุ กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “พช.18” จารึก อักษรหลังปัลลวะ(มอญโบราณ)ภาษาสันสกฤต ซึ่งสันนิษฐานว่า มีอายุมากกว่า 1,100 ปี เป็นโบราณวัตถุที่แสดงถึงความเป็นชุมชนสมัยทวารวดี และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของอำเภอน้ำหนาว
‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook